วันที่ 1 มีนาคม 2565 นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา ผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เป็นประธานเปิดกิจกรรม (KICK OFF) คาราวานแก้จนจังหวัดพังงา : โครงการพังงาร่วมใจ รวมพลัง พัฒนาคุณภาพชีวิต พิชิตปัญหา ขจัดความยากจน ภายใต้ การขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา โดยมีนางวิภาดา ทิพญพงศ์ธาดา นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพังงา/ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดพังงา พร้อมด้วยคณะกรรมการ/สมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดพังงา และคณะทำงานชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดพังงา นางสาวศริญญา ใจเย็น ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาชุมชน รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัดพังงา นายเอกสิทธิ์ สองเมือง นายอำเภอตะกั่วทุ่ง คณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนฯ (คจพ.จ.) ส่วนราชการ ร่วมกันมอบเงินอุดหนุนพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ครัวเรือนเปราะบาง จำนวน 10 ครัวเรือน แก่นายอำเภอตะกั่วทุ่ง มอบคู่มือแก้จน และสิ่งของอุปโภคบริโภคแก่ทีมพี่เลี้ยงที่ประกอบด้วยผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ ส่วนราชการและมอบถุงธารน้ำใจเหล่ากาชาด จำนวน 30 ถุง พร้อมปล่อยคาราวานรถแก้จนเพื่อลงพื้นที่สอบถามสารทุกข์สุขดิบประชาชนกลุ่มเป้าหมายเป็นรายครัวเรือน
ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา นายกเหล่ากาชาดจังหวัดพังงา/ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดพังงา คณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนฯ (คจพ.จ.) ส่วนราชการในพื้นที่ ทีมพี่เลี้ยง และหมอแก้จน ได้ลงพื้นที่เยี่ยมครัวเรือนประชาชนในหมู่ที่ 3 ต.กระโสม อ.ตะกั่วทุ่ง มอบถุงธารน้ำใจเหล่ากาชาดจังหวัดพังงา ช่วยเหลือเบื้องต้น พร้อมกับพูดคุยและสอบถามความเป็นอยู่ ตลอดจนรับฟังปัญหาที่ต้องการให้หน่วยงานของทางราชการเข้าช่วยเหลือ จังหวัดพังงา ได้รับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคนทุกช่วงวัย ขับเคลื่อนโดยศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ด้วยระบบ TPMAP บูรณาการทำงานทุกภาคส่วนร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือบุคคล ครัวเรือน กลุ่มเป้าหมายใน 5 มิติ ได้แก่ มิติสุขภาพ มิติความเป็นอยู่ มิติการศึกษา มิติรายได้ และมิติการเข้าถึงบริการภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งได้แต่งตั้งหมอแก้จนและทีมพี่เลี้ยงที่ประกอบด้วย ข้าราชการ ส่วนราชการในระดับพื้นที่ ผู้นำชุมชน และนักศึกษา เป็นคณะทำงาน ออกดูแลและติดตามการแก้ปัญหาความยากจนของครัวเรือนอย่างใกล้ชิด จากการสำรวจมีครัวเรือนยากจนตามเป้าหมาย TPMAP จำนวน 1,780 ครัวเรือน ครัวเรือนยากจนจริง จำนวน 411 ครัวเรือน ครัวเรือนยากจนค้นพบใหม่ จำนวน 509 ครัวเรือน รวมครัวเรือนยากจนทั้งหมด จำนวน 921 ครัวเรือน และจะมีการประเมินและติดตามผลของกิจกรรมต่อไป






